ถ้าเราจะมีคำถามขึ้นมาในใจ “ของตนเอง” ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าการ ครองเรือนเป็นความลำบาก โดยบาลีพระพุทธวจนะว่า พกฺขา ฆารวาสา (พัก-ขา-คา-ระ-วา-สา-)การครองเรือนเป็นทุกข์ อันความทุกข์นั้นได้แก่ความ “หนักใจ” อันความหนักใจของคนอื่นนั้น เราจะยกไว้ก่อน จะพูดเฉพาะความเกี่ยวข้อง แด่ “มารดาบิดา” กับ “บุตรธิดา” เพื่อจะได้พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ(ไตร่ตรองในใจ อย่างแยบคาย)ว่าอันความเกี่ยวข้องของ “มารดาบิดา” กับ“บุตรธิดา”นั้น มีแต่ความ “หนักใจ” ทั้งสิ้น “หนักใจ” ในอันจะต้องเลี้ยงดูบุตรธิดาให้มีอนามัยดีเสมอไป “หนักใจ” ในอันจะต้องอบรมบุตรธิดาให้ประพฤติดี ให้ปฏิบัติชอบ ให้มีมารยาทสุภาพ เหมาะแก่สังคมทั่วไป “หนักใจ” ในอันจะต้องให้บุตรธิดาอยู่ดีกินดี มีการศึกษาดี “หนักใจ” ในอันจะต้องหาทุนทรัพย์ให้บุตรธิดาใช้จ่ายเนื่องในการศึกษา ตลอดถึงการ ว่างงาน “หนักใจ” ในเรื่องการคบหาสมาคม ของบุตรธิดากับ “มิตรสหาย” เกรงบุตรธิดาของตน จะกลายเป็น “อันธพาล” “หนักใจ” ในเรื่องบุตรธิดาของตนออกจากบ้านไม่เป็นเวลา กลับบ้านในเวลาอันไม่สมควร “หนักใจ” ในเรื่องบุตรธิดาใช้จ่าย “เงิน” โดยไม่คำนึงถึงความลำบากของ “มารดาบิดา” ผู้หาเงินมาให้ใช้ โดยไม่รู้ความสิ้นเสื่อมของทรัพย์ ตามที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องของความ “หนักใจ” ที่ “กอง” อยู่บน “อก” ของมารดาและบิดา โดยไม่มีเวลาผลักออกจาก “อก” ได้ และไม่มีใครจะช่วยยก “ภูเขา” คือความหนักอกหนักใจ ของมารดาบิดาได้เว้นไว้แต่ “บุตรธิดา” เท่านั้น ที่จะกระทำ “ภูเขาหิน” บนอกมารดาบิดาให้ “เบา” ดังปุยนุ่นได้ ลูกเอย....... คิดได้หรือยัง? จงพยายามทำความหนักใจที่เป็นดัง “ภูเขาหิน” ที่ทับอยู่บน ทรวงอกของพ่อแม่ ให้เป็นความเบาใจ... ให้เป็นความเบาใจ ดังความเบาของ “ปุยนุ่นเถิด” จะเอาอะไรกับมารดาบิดา?... บางคนถึงกับไปร้องไห้ที่ “ประตูคุก” เพราะรักและสงสารลูก ไม่มีความสบายใจเลย เรื่องในทรวงอกของ “มารดาบิดา” ก็มีแต่ความ “หนักใจ”ทั้งนั้น. สมเด็จพระสังฆราช พระอริยวงศาคตญาณ (วัดพระเชตุพนฯ)
เนื่องจากคณะผู้จัดทำมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเผย
แผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า
และเปิดเผยความจริงโดย
ไม่มีวัตถุประสงค์อื่น
สื่อจากสำนักปฏิบัติธรรม
ดอยเวียงเกี๋ยงวนาแจกฟรีไม่มีการขาย